วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียน

บทนำ
ครูคือผู้มองเห็นศักยภาพผู้เรียน
มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน(ฟิสิกส์)ชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 1 โรงเรียนนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3 ซึ่งผู้เขียนมีความเกี่ยวข้อง เป็นครูผู้สอนคนหนึ่ง ที่ได้ค้นพบมุมมองการเห็นคล้ายเหรียญ 2 ด้าน ที่มีด้านหนึ่งได้เห็นภาพของนักเรียนมีความสุขจากการเรียนรู้มีสถานการณ์ทดลองอย่างสนุกสนาน มีการค้นพบหลักการวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง และมีปฏิสัมพันธ์กระบวนการกลุ่มที่ดี ภายใต้การจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนโดยการใช้ศูนย์การเรียนวิทยาศาสตร์ไทยบริดจสโตนโรงเรียนนางรอง เป็นแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษา เกิดจากความร่วมมือของครู นักเรียน ผู้ปกครอง ที่มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ร่วมกันเป็นอย่างดี จึงนับได้ว่า เป็นสิ่งที่ดีเลิศที่หน่วยงานภายนอกมอบให้แก่พวกเราชาวนางรองทุกคน และได้พบว่า เหรียญอีกด้านหนึ่งนักเรียนยังไม่ประสบผลสำเร็จในการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการคิดคำนวณ ทำให้เกิดปัญหาด้านการคิดคำนวณในสาระการเรียนรู้ ที่ต้องเรียนอย่างลุ่มลึกยิ่งขึ้นโดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ซึ่งมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำและไม่สูงขึ้นอย่างที่คาดหวังไว้ ซึ่งดูเหมือนว่า นักเรียนประสบผลสำเร็จในด้านกระบวนการทดลอง และมีจิตวิทยาศาสตร์ แต่อีกด้านหนึ่งทำไมจึงมีการล้มเหลวของการนำความรู้ไปใช้ในการคิดคำนวณ ผู้เขียนจึงใช้โอกาสนี้คิดไตร่ตรอง นำมุมมองภาพทั้งสองด้านมาวิเคราะห์พิจารณา และเริ่มต้นการรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง ตรวจสอบผลการเรียนรู้จาก ปีการศึกษาที่ผ่านมา ทำให้พบว่า ผลการเรียนรู้ที่นักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์เรียงอันดับจากการไม่ผ่านจากมากไปหาน้อยจำนวน 10 อันดับ มีจำนวน 11 ผลการเรียนรู้ เป็นแผนที่มีปัญหาการคิดคำนวณแทบทั้งสิ้นจำนวน 10 แผน และมีการทดลองจำนวน 1 แผน ผู้เขียนจึงมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้เริ่มต้นการสังเกตในห้องเรียนถึงพฤติกรรมของนักเรียนเพิ่มเติมต่อไป และพบว่า ในการเรียนการคิดคำนวณ นักเรียนในห้องเรียน 1 ห้องเรียนมีพฤติกรรมที่ความแตกต่างกันอย่างชัดเจนมาก ในสาระการเรียนรู้ที่มีการคิดคำนวณรวดเร็วและช้าแตกต่างกัน เกิดการเรียนรู้ไม่เท่ากัน นักเรียนจึงแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันจำนวน 3 กลุ่ม ดังนี้ นักเรียนกลุ่มที่ 1 มีพฤติกรรมเรียนรู้แบบลัดขั้นตอน ตามแนวทางการสอนพิเศษ นอกเวลาเรียนมากจนเกินไป ไม่มีการสงสัย ไม่มีการซักถาม มีอาการหงุดหงิด เบื่อหน่ายเพื่อนที่ชอบถามข้อสงสัย จึงแสดงท่าทางไม่สนใจต่อการเรียน หรือนำการบ้านวิชาอื่นมาจัดทำในชั่วโมงเรียน เมื่อครูสอบถามนักเรียนมักให้เหตุผลว่า ทำงานตามกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมักเกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ในระดับ ดี คิดคำนวณได้รวดเร็ว นักเรียนกลุ่มที่ 2 มีพฤติกรรมการเรียนรู้ตามลำดับขั้นตอนแบบกระบวนการที่ดำเนินสอนอยู่แล้ว ต้องการรู้รายละเอียดและปฏิบัติกิจกรรมได้เป็นอย่างดี ชอบการสอบถามและพยายามเรียนรู้อย่างมีขั้นตอน เนื่องจากไม่มีการเรียนพิเศษ มีความสามารถพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ในระดับ ปานกลาง เป็นนักเรียนกลุ่มใหญ่ แต่มีลักษณะขาดความมั่นใจในการปฏิบัติและถูกรบกวนจากนักเรียนกลุ่มอื่นๆ นักเรียนกลุ่มที่ 3 มีพฤติกรรมเงียบขรึม ไม่รู้จะเริ่มต้นถามอย่างไร ม่รู้ว่าสงสัยอย่างไร เขียนลำดับขั้นตอนการคิดคำนวณไม่ถูกต้อง ไม่กล้าถามข้อสงสัย มีความอาย ไม่ต้องการให้เพื่อนๆ เสียเวลากับการไม่รู้ของตนเอง จึงนั่งลอกเลียนการทำงานของเพื่อนไปเรื่อยๆ เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ในระดับ ต่ำ มีการคิดคำนวณได้ช้า หากคุณครูได้พบข้อสังเกต และมองข้ามการสังเกตนี้ โดยยังมีการใช้แผนการสอนที่มีกิจกรรมเดียว ใช้สำหรับนักเรียนทุกคนในห้องเรียน จะทำให้นักเรียนทุกกลุ่มที่แตกต่างกันไม่สามารถพัฒนาตามศักยภาพของตนเอง ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เมื่อทำการศึกษาวิเคราะห์นักเรียนอย่างถ่องแท้ ผู้เขียนจึงต้องการพัฒนาความสามารถของนักเรียนทุกกลุ่มให้เป็นไปตามศักยภาพของนักเรียน จึงได้มีการทบทวนวิเคราะห์รูปแบบการสอนของตนเองในปีการศึกษาที่ผ่านมา และใช้ประสบการณ์ในการสอนจนได้ค้นพบสาเหตุความจริงในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งถ้าหากครูใช้กิจกรรมเรียนรู้เดียวกันทำการสอนกับนักเรียนทั้งห้องเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน แสดงว่าไม่มีการตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ผลการเรียนรู้ที่ดีที่สุดไม่เกิดขึ้น ครูผู้สอนต้องปรับแนวคิดเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนใหม่ เพื่อการพัฒนาแก้ปัญหาผู้เรียนอย่างตั้งใจ และควรทุ่มเทเสียสละเต็มกำลังศักยภาพของครูคนหนึ่ง

แนวคิดในการพัฒนาศักยภาพ
ผู้เขียนได้เริ่มต้นศึกษาค้นคว้าความรู้ วิธีการจัดการพัฒนาความคิดคำนวณด้วยกิจกรรมและเทคนิคการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับนักเรียนทั้งสามกลุ่ม ที่มีความสามารถแตกต่างกัน เพื่อนำมาสังเคราะห์แนวทางเลือกรูปแบบการสอนสร้างกิจกรรมเรียนรู้ เพื่อนำมาฝึกปฏิบัติลำดับขั้นตอนที่แตกต่างกันตามความสามารถของนักเรียน และพบว่ากิจกรรมที่คิดค้นได้นั้น มีปรัชญาการศึกษา ทฤษฏีการเรียนรู้ ทฤษฏีแรงจูงใจรองรับแนวคิด มีความสอดคล้องกับวิธีการจัดการเรียนการสอนหลากหลายได้แก่ การเรียนการสอนแบบนิรนัย การเรียนการสอนแบบอุปนัย การแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ของโพลยา การสอนแบบ สุ. จิ. ปุ. ลิ. กระบวนการคิด การอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ และหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผู้เขียนใคร่นำเสนอโดยสรุปไว้ ดังนี้
ปรัชญาการศึกษา
1. พิพัฒนาการนิยม มีความเชื่อว่า คนเราเรียนรู้ ได้ดีที่สุดจากสิ่งใกล้ และสัมพันธ์กับตัวเองมากที่สุด ดังนั้น การจัดการเรียนรู้ที่เน้นประสบการณ์ความสนใจและความสามารถของผู้เรียน และในบทบาทของครู มีหน้าที่จัดประสบการณ์ สิ่งแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้มากที่สุด มีความยืดหยุ่น เน้นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งบทบาทของนักเรียนควรมีการยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล มีการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และความรับผิดชอบ มีการเรียนรู้ที่เกิดจากการกระทำด้วยตนเอง (Learning by Doing )
2. อัตนิยม มีความเชื่อว่า มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกและสร้างประสบการณ์ พัฒนาผู้เรียนให้เป็นปัจเจกบุคคลอย่างสมบูรณ์ (Authentic Individuals) บทบาทของครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักตนเอง และให้โอกาสเลือกทำกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจ และความสามารถ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล บทบาทของนักเรียน ควรมีการยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล คำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การเป็นตัวของตนเองมากที่สุด และได้เลือกทำกิจกรรมตามความพึงพอใจ
ทฤษฎีการเรียนรู้
1. กลุ่มมนุษย์นิยม ให้คำนึงถึง มนุษย์มีความสามารถกำหนดพฤติกรรมมนุษย์ด้วยกันได้ เมื่อทุกคน พยายามเรียนรู้ตนเองและยอมรับในสมรรถวิสัยของผู้อื่นอย่างเข้าใจ
2. กลุ่มปัญญานิยมและทฤษฎีสนาม ให้ คำนึงถึง ความคิดที่เกิดขึ้นในขณะที่คนมีการเรียนรู้ การตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคล และจัดประสบการณ์ให้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี มีการค้นคว้าตามความสนใจต่อเนื่อง

รูปแบบการจัดการเรียนรู้
พิมพันธ์ เดชะคุปต์ (2545, 56) กล่าวถึง กลวิธีการจัดการเรียนรู้ทางอ้อม ครูควรจัดประสบการณ์ให้นักเรียนได้ค้นพบความรู้ด้วยตนเอง
ทิศนา แขมมณี (2548 , 31) กล่าวถึง การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย เป็นการจัดการเรียนการสอนจากหลักการไปสู่ตัวอย่างย่อยๆ มีข้อ ดีคือ สามารถเอื้ออำนวยให้นักเรียนที่มีความสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว มีการพัฒนาตนเองได้โดยไม่ต้องรอนักเรียนที่เรียนรู้ได้ช้ากว่า
สุวิทย์ อรทัย มูลคำ (2545 , 23) กล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนแบบนิรนัยได้ผลดีในการจัดการเรียนรู้ในวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาคณิตศาสตร์
ทิศนา แขมมณี (2548 , 39) กล่าวถึง การจัดการเรียนการสอนแบบอุปนัย เป็นการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนมีกระบวนการสรุปหลักการจากตัวอย่างต่างๆ ที่ครูจัดให้ด้วยตนเอง สามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้
โพลยา (ศึกษานิเทศก์. 2540, 24) ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหา 4 ขั้นตอนประกอบด้วย 1) การทำความเข้าใจโจทย์ 2) การวางแผนแก้โจทย์ปัญหา 3 )การคำนวณ 4) การตรวจสอบ
หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา (2540, 70) กล่าวถึง กระบวนการแก้ปัญหาโจทย์ 1) วิเคราะห์โจทย์ โจทย์ให้อะไรมาต้องการทราบอะไร 2)กำหนดขั้นตอนการแก้ปัญหา การแปลงสัญลักษณ์ การสรุปความสัมพันธ์ ความรู้ที่ใช้การคำนวณ 3) ปฏิบัติตามขั้นตอน ลงมือปฏิบัติตามกระบวนการ มีการตรวจสอบและแก้ไขปรับปรุง 4) ตรวจสอบความถูกต้อง
การเรียนรู้แบบ สุ.จิ.ปุ.ลิ. กลุ่มส่งเสริมการเรียนการสอนและประเมินผล ( 2548, 3) เป็นการสอนที่ให้นักเรียนมีความสามารถในการฟังและการอ่าน การคิด การถาม และการเขียนสื่อความ นักเรียนแสดงให้เห็นการรู้จริง ทำได้จริงด้วยสติปัญญา
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการเรียนรู้ สุชาดา นันทะไชย (2548, 6) กล่าวถึง แนวทางการจัดการเรียนการสอนที่มีความพอประมาณกับศักยภาพของผู้เรียน ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง เน้นคิดเป็น แก้ปัญหาเป็นอย่างมีเหตุผล มีการพัฒนาทักษะจนพึ่งพาตนเองได้ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดี และมีความสามารถในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรับผิดชอบไม่เอาเปรียบผู้อื่น มีวินัย มีสัมมาคารวะ ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดี และควรมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย
กล่าวโดยสรุปว่า แนวคิดในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนนั้น ครูควรมีความเชื่อมั่นในปรัชญาการศึกษาที่เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูสามารถจัดประสบการณ์ให้นักเรียนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดีที่สุด เมื่อมีการยอมรับ ในความสามารถของแต่ละบุคคล ครูต้องกล้าหาญเป็นผู้เลือกจัดประสบการณ์ ค้นหารูปแบบที่เหมาะสมกับนักเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อาจมีความหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน สามารถนำมาใช้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียนที่แตกต่างกัน สอดแทรกการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ใช้เป็นแรงขับเคลื่อนให้การจัดการเรียนการสอนไปสู่การแก้ปัญหา ใช้การอ่านคิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนในการคิดคำนวณตามการแก้ปัญหาของโพลยา ซึ่งผู้เขียนใคร่เชิญชวนติดตามในประเด็นต่อไป

กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียน
เมื่อผู้เขียนได้ศึกษาเรียนรู้ทฤษฎีอย่างเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว จึงนำความรู้ที่ได้รับมาพิจารณาความเป็นไปได้ ในการสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดที่สร้างไว้ให้มีสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดำเนินการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ออกแบบการสอนเพื่อให้ได้รูปแบบเทคนิคการสอนจำนวน 3 รูปแบบสำหรับนักเรียนสามกลุ่ม ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1 เทคนิคดาวกระจายใช้สำหรับนักเรียนกลุ่มที่ 1 มีทฤษฎีการเรียนการสอนแบบนิรนัยรองรับ รูปแบบที่ 2 เทคนิคการคิดวิเคราะห์แนวคิดหลักใช้สำหรับนักเรียนกลุ่มที่ 2 มีทฤษฎีการเรียนการสอนแบบอุปนัยรองรับ และรูปแบบที่ 3 เทคนิค สุ.จิ.ปุ.ลิ. ใช้สำหรับนักเรียนกลุ่มที่ 3 มีทฤษฎีการฟังการอ่าน การคิด การถามและการเขียนรองรับ นอกจากนี้ทุกรูปแบบได้มีการผสมผสานการอ่านคิดวิเคราะห์ และการเขียนสื่อความ การแก้ปัญหาของโพลยา สอดแทรกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เรียกชื่อรวมกันทั้งสามรูปแบบว่า กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียน ซึ่งหมายถึง การจัดกิจกรรมเรียนรู้ 3 รูปแบบ สำหรับนักเรียน 3 กลุ่ม ที่มีความสามารถการคิดคำนวณแตกต่างกัน

เรียนรู้วิจัยไปพร้อมกับการพัฒนา
ผู้เขียนได้สรุปประเด็นของปัญหาการวิจัยไว้ดังนี้ การจัดการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียนสามารถพัฒนากระบวนการคิดมีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการคิดคำนวณสูงขึ้นหรือไม่ และทำให้มีผลงานทางวิชาการประเภทงานวิจัย มีชื่อว่า
“ การพัฒนากระบวนการคิดโดยใช้กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียน ในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกันที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการคิดคำนวณวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) ชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 4 ”
วัตถุประสงค์ของการวิจัย ประกอบด้วย 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพกิจกรรมเรียนรู้ ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียนในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกัน มาใช้พัฒนากระบวนการคิดคำนวณวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนด 80/ 80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการคิดคำนวณวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2 กลุ่ม กลุ่มควบคุมที่ใช้การจัดการเรียนการสอนแบบปกติ และกลุ่มทดลองที่จัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียนในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกัน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มทดลอง ที่จัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเรียนรู้ ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียนในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกัน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 โดยเลือกกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม เป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง และมีวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนแรกสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง นักเรียนที่มีผลการเรียนไม่แตกต่างกัน จำนวน 2 ห้องเรียน พิจารณาจากการทดสอบโดยใช้ค่าสถิติค่าที (t-test) พบว่า นักเรียนทั้งสองห้องเรียนไม่มีความแตกต่างกัน ขั้นตอนที่ 2 เป็นการสุ่มจับฉลากได้นักเรียน 1 ห้องเรียนเป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 43 คน และนักเรียน 1 ห้องเรียนเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 45 คน มีจำนวนนักเรียนเท่ากับการจัดห้องเรียนตามสภาพจริงของโรงเรียนนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียน แผนการจัดการเรียนรู้แบบปกติสำหรับกลุ่มควบคุม แผนการจัดการเรียนรู้กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียนในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกันสำหรับกลุ่มทดลอง จำนวนกลุ่มละ 10 แผน เฉพาะสาระการเรียนรู้การคิดคำนวณ แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มทดลอง สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าสัมประสิทธิ์การกระจายของคะแนนรวม และสถิติทดสอบความแตกต่างของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียนของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง โดยใช้สถิติทดสอบค่าที (t-test)
การดำเนินการ ได้เริ่มต้นจากการเตรียมความพร้อม ให้นักเรียนทุกคนรู้จักมีความพอประมาณความสามารถของตนเอง การใช้เหตุผลที่ดีตรวจสอบความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของตนเองและความต้องการเรียนรู้แบบพึ่งพาตนเองได้ ทำให้มีนักเรียนแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์อยู่ในระดับ ดี ใช้สัญลักษณ์สีเขียวมีจำนวนนักเรียน 13 คน กลุ่มที่ 2 มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์อยู่ในระดับ ปานกลางใช้สัญลักษณ์สีเหลืองจำนวนนักเรียน 20 คน และกลุ่มที่ 3 มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์อยู่ในระดับ ต่ำ ใช้สัญลักษณ์ สีชมพูจำนวนนักเรียน 12 คน ดำเนินการวิจัยและพัฒนาจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) ชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 มีการจัดการเฉพาะแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีสาระการเรียนรู้การคิดคำนวณ จำนวน 10 แผน ประกอบด้วยแผนการเรียนรู้ที่ 10 13 14 18 21 23 24 25 26 และ28 นักเรียนกลุ่มทดลองใช้กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียน และนักเรียนกลุ่มควบคุมที่เรียนโดยใช้การสอนแบบปกติ (กระบวนการคณิตศาสตร์ทักษะการคิดคำนวณ) จากนั้นได้มีการดำเนิน การวิจัยตามแผนที่วางไว้ และเก็บรวบรวมผลการดำเนินที่ได้เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลตามระเบียบวิธีการวิจัย
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1) ประสิทธิภาพของกิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพ ผู้เรียนในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกัน มีประสิทธิภาพ 90.1/ 89.0 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80 / 80 2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการคิดคำนวณวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 ของนักเรียนกลุ่มทดลอง ที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียน ในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกัน สูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุมที่ใช้การจัดการเรียนรู้แบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3) ความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มทดลองที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียนในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกัน วิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) มีความพึงพอใจในระดับ มากที่สุด
อภิปรายผล 1) ประสิทธิภาพของกิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียนในแผนการจัด การเรียนรู้เดียวกันมีประสิทธิภาพ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้เพราะว่ากิจกรรมรูปแบบที่1 มีความสอดคล้องกับทฤษฎีการจัดการเรียนการสอนแบบนิรนัยของทิศนา แขมมณี (2548, 31) ทำให้สามารถเอื้ออำนวยให้นักเรียนที่มีความสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วพัฒนาตนเองได้โดยไม่ต้องรอนักเรียนที่เรียนรู้ได้ช้ากว่า กิจกรรมรูปแบบที่2 มีความสอดคล้องกับทฤษฎีการจัดการเรียนการสอนแบบอุปนัยของทิศนา แขมมณี (2548 , 39) ทำให้สามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ และกิจกรรมรูปแบบที่ 3 มีความสอดคล้องกับการเรียนรู้แบบ สุ.จิ.ปุ.ลิ. (กลุ่มส่งเสริมการเรียนการสอนและประเมินผล. 2548, 3) เป็นการสอนที่ให้นักเรียนมีความสามารถใน การฟังและการอ่าน การคิด การถาม การเขียนสื่อความ นักเรียนแสดงให้เห็นการรู้จริง ทำได้จริงด้วยสติปัญญา และทั้งสามรูปแบบมีความสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการเรียนรู้ สุชาดา นันทะไชย (2548, 6) แนวทางการจัดการเรียนการสอนที่มีความพอประมาณกับศักยภาพของผู้เรียน ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง ทำให้มีภูมิคุ้มกันในตัวเองที่ดี และมีความสามารถในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และมีความซื่อสัตย์สุจริต 2) ผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนการคิดคำนวณวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2548 ของนักเรียนกลุ่มทดลอง ที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเรียนรู้ ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียนในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกันสูงกว่ากลุ่มควบคุม ที่ใช้การจัดการเรียนรู้แบบปกติ ทั้งนี้เพราะว่า นักเรียนมีการยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล มีการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และมีการเรียนรู้ที่เกิดจากการกระทำด้วยตนเองตามความสนใจ พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมและอัตนิยม และ3) ความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มทดลองที่มีการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียนในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกัน วิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) มีความพึงพอใจในระดับ มากที่สุด ทั้งนี้เพราะว่า นักเรียน ทุกคนพยายามเรียนรู้ตนเองและยอมรับในสมรรถวิสัยของผู้อื่นอย่างเข้าใจและนักเรียนได้รับการตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคล และจัดประสบการณ์ให้เหมาะสม ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี มีการค้นคว้าตามความสนใจต่อเนื่องอย่างมีความสุข สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษย์นิยม กลุ่มปัญญานิยมและทฤษฎีสนาม

บทสรุป
ผลงานการวิจัยครั้งนี้ มีแนวความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกัน1 แผนแต่มีกิจกรรมที่คำนึงถึงศักยภาพ 3 รูปแบบสำหรับนักเรียนจำนวน 3 กลุ่ม ที่มีความสามารถคิดคำนวณแตกต่างกัน มีการนำหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ปฏิบัติในขั้นตอนของการดำเนินการวิจัย ผู้เขียนมีต้องมีความตั้งใจจริง และมีความอดทนรอคอยผลจากการพัฒนาในการทำงานเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกัน 3 ปีการศึกษา ผลงานจึงบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ผู้เขียนในอีกบทบาทหนึ่งของผู้วิจัยที่ได้แก้ปัญหาสำเร็จลง ส่วนหนึ่งย่อมมีความภาคภูมิใจ และส่วนหนึ่งในบทบาทของความเป็นครู ยังมีความกังวลถึงความรู้สึกของนักเรียนกลุ่มควบคุมและนักเรียนที่รับผิดชอบสอน ทำให้ต้องมีการย้อนกลับไปทบทวน และไตร่ตรองผลการดำเนินวิจัยที่ครูทุกคนไม่ควรมองข้าม จึงมีการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อการสอนเสริมเพิ่มเติมให้กับนักเรียนทุกห้องเรียนในวันหยุดราชการ ตลอดระยะเวลาดำเนินการเท่าที่ความสามารถของครูคนหนึ่งจะพึงกระทำได้ ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันระหว่างครูกับนักเรียน และทำให้ครูเกิดความซาบซึ้งในกระบวนการวิจัยเพื่อการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ต้องการเรียนรู้ การวิจัยอย่างจริงจัง ดังนั้นผู้เขียนจึงได้สมัครเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาครุศาสตร มหาบัณฑิต สาขา หลักสูตรและการสอน เพื่อเรียนรู้และตรวจสอบความรู้ภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีในการพัฒนาตนเองไปพร้อมกับการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อท่านที่เคารพทุกท่านได้อ่านศึกษาผลงานของผู้เขียนจบลง หวังว่าคงมองเห็นภาพของครูคนหนึ่งที่เริ่มต้นเรียนรู้งานวิจัยจากการแก้ปัญหาของการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้ค้นพบความจริง
“ หน้าที่และความรับผิดชอบของครูจะทำให้ผลงานนั้นประสบผลสำเร็จ และความรัก ความศรัทธาในความเป็นครูจะทำให้ผลงานนั้นงดงามเป็นเลิศ”
แสดงไว้ในแผนภาพที่ 1



แผนภาพที่ 1 กระบวนการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน (สมสุข แสงปราบ. 2549)
วิเคราะห์หลักสูตร/สาระการเรียนรู้


การนำความรู้และหลักการไปใช้ในการคิดคำนวณ
สังเกตความแตกต่างระหว่างบุคคล
แผนการจัดการเรียนรู้
ตามปกติ กระบวนการคณิตศาสตร์ทักษะการคิดคำนวณ ใช้ทั้งห้องเรียน


ไม่มี

กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพผู้เรียน มี


วิธีการจัดการเรียนรู้
- แบบนิรนัย
- แบบอุปนัย
- การแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ของ
โพลยา
-กระบวนการคิด
-การอ่าน
คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ
- หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เตรียมความพร้อม/ ตรวจสอบความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์
นักเรียนประเมินตนเองตาม
กลุ่มที่ 1 สีเขียว เทคนิคดาวกระจาย
กลุ่มที่ 2 สีเหลือง เทคนิคการคิดวิเคราะห์แนวคิดหลัก
กลุ่มที่ 3 สีชมพู
เทคนิค สุ.จิ.ปุ.ลิ.
แบบทดสอบผลการเรียนรู้ในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกัน
แบบฝึกเสริมทักษะ
แบบฝึกปฏิบัติ
แบบฝึกซ่อมเสริม









พัฒนาต่อเนื่อง ประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ไม่ผ่าน
ผ่าน
รายงานผลการวิจัยและพัฒนา


เอกสารอ้างอิง

กระทรวงศึกษาธิการ. (2548). แนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549-2550. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานนโยบายและแผนการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม.
________ . (2545). พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2545. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์อักษรไทย.
________ . (2545). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).
กลุ่มส่งเสริมการเรียนการสอนและประเมินผล, สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. (2548). การประเมิน การอ่าน การคิดวิเคราะห์และการเขียนตามหลักสูตรการศึกษาพุทธศักราช 2544. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.).
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. (2540). ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ไอเดียนสแควร์.
ทิศนา แขมมณี. (2544). 14 วิธีสอนสำหรับครูมืออาชีพ. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
________ . (2548). องค์ความรู้เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ. พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พรพิมล พงศ์สุวรรณ. (2551). เอกสารคำสอนรายวิชาการพัฒนาาหลักสูตรและการเรียนการสอน.
เอกสารประกอบการสอนบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์.
พิมพันธ์ เดชะคุปต์. (2545). พฤติกรรมการสอนวิทยาศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์
บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดเสริมสินพรีเพรสซิสเท็ม.
ศึกษานิเทศก์, หน่วย. สำนักงานการศึกษากรุงเทพหานคร. (2540). คู่มือการสอนวิชาวิทยาศาสตร์
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6. กรุงเทพมหานคร: ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
สมสุข แสงปราบ. (2549) การพัฒนากระบวนการคิดโดยใช้กิจกรรมเรียนรู้ไตรลักษณ์ตามศักยภาพ
ผู้เรียน ในแผนการจัดการเรียนรู้เดียวกันที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการคิดคำนวณวิชา
วิทยาศาสตร์เพิ่มเติม (ฟิสิกส์) ชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 4. ผลงานทางวิชาการครูเชี่ยวชาญวิชา
วิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ โรงเรียนนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์.
สุชาดา นันทะไชย. (2548). แนวทางการจัดการศึกษาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. เอกสารประกอบการบรรยาย. ได้รับเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2551 จาก http://amin.edu.ku.ac.th/article/suchada.doc
สุวิทย์ มูลคำและอรทัย มูลคำ. (2545). 21 วิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด.
พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์.